รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดโครงการ
หลักการเหตุผล / การวิเคราะห์สถานการณ์ / ความสำคัญของปัญหา /
1.1 ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ดำเนินโครงการ
โรงเรียนคลองขวาง ตั้งอยู่เลขที่ 205/1 หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เป็นโรงเรียนขนาดกลาง ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 370 คน มีบ้านเรือนประชาชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ป้อมตำรวจ และวัด มีอาคารเรียน 4 หลัง โรงอาหาร 1 หลัง พื้นที่ดั่งเดิมเป็นที่นา ด้านหลังโรงเรียนมี อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีบุคลากรทั้งหมด 25 คน ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน 1 คน ครู 21 คน ธุรการ 1 คน นักการ 1 คน และแม่ครัว 1 คน ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป มีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน จึงส่งผลให้คุณภาพในชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้นักเรียนต้องอยู่ตามมีตามเกิด โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้และโภชนาการสมวัย
โรงเรียนคลองขวาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด นักเรียนในเขตบริการของโรงเรียนอยู่ในตำบลท่ากุ่มอำเภอเมืองตราดจังหวัดตราด ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา เป็นจำนวนมาก ครอบครัวยากจนผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี บ้านเรือนอยู่ห่างไกลกันอยู่สภาพเป็นชุมชนเล็ก ๆ กระจายกันอยู่ในสวนผลไม้และสวนยางพารา และห่างไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวก สัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึง สภาพบ้านเรือนเป็นบ้านเช่าและบ้านพักคนงาน การเดินทางมาโรงเรียน มีทั้งเดินเท้า รถจักรยานยนต์ และรถประจำ บ้านพักของนักเรียนหลายคนอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนเกินกว่า 10 กิโลเมตร
โรงเรียนคลองขวางได้มีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้รับประทานในระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยหวังว่านักเรียนจะมีภาวะโภชนาการที่ดี โดยทำการจัดซื้อวัสดุที่ใช้ในการประกอบอาหารโดยซื้อจากตลาดในชุมชนและจ้างแม่ครัวมาประกอบอาหารกลางวัน จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งส่งผลต่อการมีภาวะโภชนาการทำให้มีเกณฑ์น้ำหนักเกิน และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทางโรงเรียนจึงได้มีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การให้นักเรียนออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน การให้นักเรียนรับประทานอาหารมังสวิรัติในวันศุกร์ การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความตระหนักเพื่อให้นักเรียนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพ ซึ่งพบว่านักเรียนบางส่วนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและสุขภาพดีขึ้น ทางโรงเรียนจึงจะขยายเป้าหมายของโครงการต่อไป ในปีที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับงบประมาณจาก สสส.ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ ผลการดำเนินงานมีผลเป็นที่น่าพอใจ เพื่อเป็นการคงมาตรฐานของกิจกรรม และแก้ไขปัญหานี้ได้ถึงสาเหตุ จึงต้องทำโครงการส่งเสริมภาวะโภชนาการโรงเรียนคลองขวางขึ้นในปีที่ 2 นี้ โดยมีข้อมูลภาวะโภชนาการของนักเรียนในรอบปีการศึกษาใหม่ดังนี้ ภาวะอ้วน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 5.59 ภาวะเตี้ย 7 คน คิดเป็นร้อยละ 2.45 ภาวะผอม 39 คน คิดเป็นร้อยละ 13.68
1.2 การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และอุปสรรคการทำงานที่ผ่านมา
จากข้อมูลนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการในรอบปีที่ผ่านมาและข้อมูลการเยี่ยมบ้านพบสาเหตุของปัญหาดังนี้
ด้านพฤติกรรม นักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และไม่เพียงพอ ทั้งอาหารหลักและอาหารเสริม ผู้ปกครองขาดความรู้และมีพฤติกรรมการบริโภคในครอบครัวที่ผิดๆจากความเคยชิน
ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ พบว่าในชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่ และร้านค้าใกล้บ้าน จำหน่ายวัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพ มีขนมขบเคี้ยวและอาหารสำเร็จรูปจำนวนมาก ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล ตามใจนักเรียนเรื่องการรับประทาน และไม่จัดหาอาหารที่เหมาะสมอีกทั้งไม่นิยมรับประทานผัก ปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังโดยให้เงินไว้เลือกซื้อขนมเอง ด้านกลไกหรือระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง จากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และอาชีพรับจ้างกรีดยางที่ทำงานในตอนกลางคืน พักผ่อนตอนกลางวัน การติดตามดูแลนักเรียนจึงขาดหายไป เป็นผลให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ ภาวะทุพโภชนาการ ทั้งอ้วน ผอม เตี้ย เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคม ถูกเพื่อนล้อ มีกลิ่นตัว ไม่มีสมาธิในการเรียน ขาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งยังเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้าบ่อย ๆ ค่ายารักษาโรคที่เกิดตามมา รวมทั้งค่าใช้จ่ายกับการรับประทานที่ไม่มีประโยชน์อีกด้วย การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเข้าถึงครอบครัวของนักเรียนได้เพราะกิจกรรมมุ่งเน้นไปที่ตัวนักเรียนเองเป็นส่วนใหญ่ จึงยังคงพบปัญหาเดิมในนักเรียนที่มาจากครอบครัวเดียวกันในรุ่นถัดมา
1.3 แนวทางการแก้ไขปัญหา
แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนด้านโภชนาการในโรงเรียนคลองขวางที่เข็มแข็ง ทำให้เกิดความรู้ความตระหนักเรื่องโภชนาการ เพื่อสร้างระบบการจัดการโภชนาการที่ดีทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนคลองขวาง ดำเนินงานโดยมีกลไกในการติดตามปัญหาโภชนาการ ที่ทำให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการดีขึ้น
1.4 การเปลี่ยนแปลงในชุมชน/กลุ่ม/องค์กร/พื้นที่ที่จะดำเนินการ ที่อยากเห็น
1. เกิดคณะทำงานขับเคลื่อนด้านโภชนาการในโรงเรียนคลองขวางที่เข็มแข็ง
2. เกิดความรู้ความตระหนักเรื่องโภชนาการ
3. เกิดระบบการจัดการโภชนาการที่ดีทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนคลองขวาง
4. มีกลไกในการติดตามปัญหาโภชนาการ
5. นักเรียนมีภาวะโภชนาการดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้โรงเรียนคลองขวาง ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เกิดปัญหาภาวะโภชนาการที่จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของนักเรียน จึงได้จัดทำโครงการภาวะโภชนาการโรงเรียนคลองขวางขึ้น โดยเน้นที่กระบวนการผลิตอาหารเช้าและกลางวันให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ พร้อมสร้างความรู้/ความตระหนักให้นักเรียนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพตลอดจนลดการบริโภคน้ำหวาน ขนมกรุบกรอบลง และส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีของนักเรียนต่อไป